วันอาทิตย์ที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2553

บทความวิชาการ เรื่อง...ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ยุคเทคโนโลยี

ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้ยุคเทคโนโลยี
(Knowledge management หรือKM)

เนื่องจากสภาวะในโลกแห่งเทคโนโลยีก้าวหน้าพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ภาวะที่ยุคสารสนเทศไม่สามารถตอบสนองความต้องการในเรื่องต่างๆ ขององค์กรได้ทันที เนื่องจากสารสนเทศมีเป็นจำนวนมากเกินไป จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องเปลี่ยนรูปจากสารสนเทศให้มาอยู่ในรูปแบบของความรู้แทน แม้ว่า การจัดการความรู้ (Knowledge management หรือKM) จะแตกต่างจากการจัดการสารสนเทศ (Information Management) และซับซ้อนกว่ามาก อย่างไรก็ตามการจัดการความรู้ก็ยังจำเป็นต้องนำระบบเทคโนโลยีมาช่วยในการดำเนินการและเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการระบบความรู้

การจัดการความรู้ประกอบไปด้วยชุดของการปฏิบัติงานที่ถูกใช้โดยองค์กรต่างๆ เพื่อที่จะระบุ สร้าง แสดงและกระจายความรู้ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้และการเรียนรู้ภายในองค์กร อันนำไปสู่การจัดการสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการธุรกิจที่ดี องค์กรขนาดใหญ่โดยส่วนมากจะมีการจัดสรรทรัพยากรสำหรับการจัดการองค์ความรู้ โดยมักจะเป็นส่วนหนึ่งของแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศหรือแผนกการจัดการทรัพยากรมนุษย์

ความรู้ หมายถึง การจัดการที่มีกระบวนการและเป็นระบบตั้งแต่การประมวลผลข้อมูล (Data) สารสนเทศ (Information) ความคิด (Knowledge) ตลอดจนประสบการณ์โดยนัยของบุคคล เพื่อสร้างความรู้ (Knowledge) และจะต้องมีการจัดเก็บในลักษณะที่ผู้ใช้สามารถเข้าถึงได้โดยอาศัยช่องทางที่สะดวก เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้งาน ทำให้เกิดการโอนถ่ายความรู้ และมีการแพร่กระจายไหลเวียนไปทั้งองค์กร (รศ. พินิจ ศรีจันทรดี)

ลำดับชั้นของความรู้

- ปัญญา(Wisdom)

- ความรู้ (Knowledge)

- สารสนเทศ (Information)

- ข้อมูล (Data)

การจัดการความรู้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ยุคได้แก่ (รศ.ดร.จิรประภา อัครบวร)

ยุคที่ 1 การนำความรู้ที่มีอยู่ในตัวบุคคล(Tacit) นั้นนำเสนอออกมาเป็นรูปธรรม (Explicit) ให้

ได้มากที่สุด จากนั้นนำความรู้ที่ได้มานั้นมาทำการจัดเก็บไว้ในรูปแบบต่างๆ

ยุคที่ 2 การจัดการความรู้ด้วยการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เช่น Internet Intranet

ยุคที่ 3 การจัดการความรู้ด้วยการเน้นไปที่การให้เกิดชุมชนนักปฏิบัติ (COP) ในองค์การ เพื่อให้

พนักงานได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน

ยุคที่ 4 การจัดการความรู้ด้วยรูปแบบของ Social Networking

ประเภทของความรู้

ความรู้สามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้สองประเภท คือ ความรู้ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) และความรู้แฝงเร้น หรือความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) ความรู้ชัดแจ้งคือความรู้ที่เขียนอธิบายออกมาเป็นตัวอักษร เช่น คู่มือปฏิบัติงาน หนังสือ ตำรา เวปไซด์ Blog ฯลฯ ส่วนความรู้แฝงเร้นคือความรู้ที่ฝังอยู่ในตัวคน ไม่ได้ถอดออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือบางครั้งก็ไม่สามารถถอดเป็นลายลักษณ์อักษรได้ ความรู้ที่สำคัญส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นความรู้แฝงเร้น อยู่ในคนทำงาน และผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่อง จึงต้องอาศัยกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้คนได้พบกัน สร้างความไว้วางใจกัน และถ่ายทอดความรู้ระหว่างกันและกัน

กระบวนการในการจัดการความรู้

ขั้นที่ 1. สำรวจและวางแผนความรู้ (Knowledge Planning)

ขั้นที่ 2. การพัฒนาความรู้ (Knowledge Generation)

ขั้นที่ 3. การถ่ายทอดความรู้ (Knowledge Transfer)

หัวใจของการจัดการความรู้

โดยอาจกล่าวเป็นลำดับขั้นหัวใจของ KM เหมือนกับลำดับขั้นของความต้องการ โดยเริ่มจากข้อสมมุติฐานแรกที่เป็นสากลที่ยอมรับทั่วไปว่าความรู้คือพลัง

1. ความรู้คือพลัง

2. ความสำเร็จของการถ่ายทอดความรู้ไม่ใช่อยู่ที่คอมพิวเตอร์หรือเอกสาร แต่อยู่ที่การปฏิสัมพันธ์

ระหว่างคนด้วยกัน

3. จุดหมายปลายทางสำคัญ ของความรู้มิใช่ที่ตัวความรู้ แต่อยู่ที่การนำไปปฏิบัติ

4. นิยามใหม่ของผู้จัดการ คือ ผู้ซึ่งทำให้ความรู้ผลิตดอกออกผล

วัตถุประสงค์ของการจัดการความรู้ คือ การทำให้ความรู้ที่มีอยู่นั้นสามารถนำมาใช้อย่างเหมาะสมจากผู้ส่งถึงผู้รับ ความรู้ของผู้ส่งและผู้รับนั้น สามารถนำเอาไปใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผู้ส่งอาจจะส่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวหรือเป็นความรู้ นอกจากนี้ความรู้อาจจะมาจากแหล่งอื่น ๆ เช่น จากคลังความรู้ ใน “Global Village” ผู้ส่งและผู้รับสามารถเผยแพร่ข้ามโลกจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งของโลก หากมีความจำเป็นจะต้องใช้ความรู้นั้นมนุษย์จำเป็นจะต้องนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและการนำไปใช้อย่างรวดเร็วทั้งองค์กร เช่น ระบบจัดการเอกสาร ความรู้ในหลายองค์กรมักอยู่ในรูปของเอกสาร และจัดเก็บอยู่ในรูปของตัวหนังสือ เช่น รายงาน หนังสือหรืองานเอกสาร

การจัดการความรู้ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

เทคโนโลยีสารสนเทศได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันและเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินงานและพัฒนางานทุกระบบ และมีบทบาทสำคัญในการบริหารงาน รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรทางการศึกษา

เมื่อเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า ทรัพยากรมนุษย์หรือบุคลากรถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้องค์การมีความเจริญรุ่งเรืองหรือความเสื่อมโทรมได้ นักวิชาการเชื่อมั่นว่า ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญเหนือกว่าปัจจัยทางบริหารอื่น ๆ ทั้งหมด ซึ่งถ้าหากองค์การใดที่บุคลากรส่วนใหญ่หรือทั้งหมดเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถอย่างแท้จริงแล้ว องค์การนั้นย่อมมีโอกาสที่จะบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้ง่าย การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์จำเป็นจะต้องมีการพัฒนาให้สามารถเพิ่มพูนความรู้และทักษะในการทำงาน สามารถปรับตัวให้เปลี่ยนแปลงสอดคล้องกับความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ เครื่องใช้และอุปกรณ์ต่าง ๆที่ทันสมัย ตลอดจนลักษณะหน้าที่การงานและตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในวิถีทางที่ก้าวหน้าขึ้น ด้วยเหตุนี้ทุกองค์การ หน่วยงาน จึงต้องการให้บุคลากรของตนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง

ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ (2548) ได้กล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศได้เพิ่มคุณค่าเมื่อสามารถลดต้นทุนเวลา และพยายามช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน หรือการแบ่งปันความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดการความรู้ การจัดการเนื้อหา กำหนดบทบาทความรู้ ซึ่งการจัดการความรู้นั้นมีเครื่องมือจำนวนมากที่สามารถช่วยเหลือบุคคลและองค์กรให้สามารถเข้าถึงความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ ดังนั้น องค์กรจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากความรู้ มากกว่าการสร้างและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีที่สุด กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่สามารถทำอะไรเองได้ จำเป็นต้องอาศัยมนุษย์และผ่านกระบวนการเกี่ยวกับการจัดการความรู้

กล่าวโดยสรุปก็ คือ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์นั้นจำเป็นจะต้องดึงความรู้ในตัวคนออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ มาจัดการความรู้ให้เป็นระบบ เพราะความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะอินเตอร์เน็ตเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ช่วยให้การแลกเปลี่ยนความรู้สามารถทำได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้แล้วระบบฐานข้อมูลและ Knowledge Portal ที่ทันสมัยก็มีส่วนช่วยให้การจัดการความรู้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในภาพรวมแล้วเทคโนโลยีสารสนเทศมีส่วนสำคัญในการช่วยให้คนสามารถค้นหาความรู้ ดึงเอาความรู้ไปใช้ ช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงช่วยให้ข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ถูกจัดเก็บอย่างเป็นระเบียบ อย่างไรก็ตาม ในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาใช้นั้น ต้องมั่นใจว่าระบบเทคโนโลยีนั้น ๆ สามารถเชื่อมต่อหรือบูรณาการเข้ากับระบบเดิมที่องค์กรมีอยู่ได้อย่างแนบสนิท รวมถึงจะต้องตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้และใช้ได้ง่าย อีกสิ่งหนึ่งที่องค์กรจะต้องตระหนักก็คือ เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือที่ช่วยให้เกิดการติดต่อและเชื่อมโยงคนภายในองค์กรเข้าด้วยกันเท่านั้น เทคโนโลยีไม่ได้ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แต่ทำให้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกิดได้รวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น “มนุษย์” เป็นผู้ที่แลกเปลี่ยนความรู้ นำความรู้ที่มีอยู่ในตัวมาจัดการความรู้ ไม่ใช่เทคโนโลยี

ที่มา : http://www.drpta.com/index.php?mo=21&catid=1294&fid=6374&detail



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น