วันศุกร์ที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้

ยุทธศาสตร์การจัดการความรู้


การบริหารจัดการความรู้ (Knowledge Management)

องค์กรแห่งการเรียนรู้ดำเนินการให้ประสบความสำเร็จจะต้องมีการทำการบริหารความรู้ (Knowledge Management) บูรณาการเข้ากับกิจกรรมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งการบริหารจัดการความรู้ หมายถึง กระบวนการจัดการความรู้ที่มีอยู่ในตัวเราออกมาใช้เพื่อแบ่งปันความรู้ให้กับผู้อื่น ไม่ใช่เก็บความรู้ไว้คนเดียว หากเราเก็บความรู้ไว้คนเดียว ความรู้ที่มีอยู่ก็จะไม่เกิดประโยชน์ เหมือนคำกล่าวที่ว่า “ยิ่งให้ ยิ่งได้” ผู้นำในองค์กรจะต้องสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ ซึ่งทุกคนเป็นผู้ที่สามารถสร้างความรู้ใหม่ได้ เมื่อเรียนรู้ได้มากขึ้นก็สร้างความรู้ใหม่ได้มากขึ้น เมื่อนำความรู้เก่ามาบูรณาการกับความรู้ใหม่ก็จะก่อให้เกิดความรู้ใหม่ ๆ ขึ้นอีก และสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น จึงกลายเป็นวงจรที่เพิ่มพูนได้ในตัวเองอย่างไม่มีสิ้นสุด ที่เรียกว่า “วงจรการเรียนรู้” นั่นเอง

องค์ประกอบหลักด้านการบริหารจัดการความรู้

1. การแสวงหาความรู้ เป็นกระบวนการที่องค์การนำมาปฏิบัติเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้

2. การสร้างความรู้ เป็นกระบวนการที่บุคคล ทีมงาน และองค์กรได้สร้างความรู้ใหม่ขึ้นมาเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงาน หรือเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนให้สูงขึ้น

3. การถ่ายโอนและใช้ความรู้ เป็นกระบวนการที่บุคคล กลุ่ม หรือองค์กรถ่ายโอนและใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์

4. การจัดเก็บความรู้และนำมาใช้ใหม่ เป็นกระบวนการที่นำความรู้ที่ได้มาหรือสร้างขึ้นโดยจัดเก็บเพื่อสะดวกในการนำกลับมาใช้ใหม่



องค์ประกอบย่อยด้านการแสวงหาความรู้

การแสวงหาความรู้ขององค์กรแห่งการเรียนรู้ มี 2 วีธี คือ การแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ภายนอกองค์การและแหล่งความรู้ภายในองค์การ

1. การแสวงหาความรู้จากภายนอก (External Collection Of Knowledge) ปัจจุบันนี้อยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้นำองค์กรจะต้องมองออกไปข้างนอกเพื่อรับแนวความคิดใหม่ ๆ มาปรับปรุงการปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอด้วยข้อมูลสารสนเทศจากสิ่งแวดล้อมภายนอกด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การอ่านจากสื่อ บทความ เป็นต้น

2. การแสวงหาความรู้จากแหล่งความรู้ภายในองค์การ (Internal Collection of Knowledge) ความสามารถในการเรียนรู้จากส่วนต่าง ๆ ภายในองค์กร นับเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยพัฒนาความร่วมมือได้ ผู้นำต้องพัฒนาองค์กรให้สามารถแสวงหาความรู้ภายในโดยการค้นหาความรู้จากบุคลากร เรียนรู้จากประสบการณ์ใช้กระบวนการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง



ความเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

ภาวะผู้นำของผู้บริหารจะต้องสร้างองค์กรหรือสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ด้วยวินัย 5 ประการที่ส่งผลให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้ ประกอบด้วย

1. ความรอบรู้ส่วนตน (Personal Mastery)
2. แบบแผนความคิด (Mental Model)
3. การมีวิสัยทัศน์ร่วม (Shared Vision)
4. การเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม (Team Learning)
5. การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)
จากวินัย 5 ประการนี้ ดร.ปีเตอร์ เอ็ม. เซ้งกี้ ต้องการจะเน้นว่า ไม่ว่าจะเป็นภารกิจใด ๆ ล้วนถือว่าเป็นเรื่องของเชิงระบบ ไม่ระบบอย่างใดก็อย่างหนึ่ง ย่อมต้องมีที่มาและที่ไป เราจะต้องเข้าใจและเห็นชัดในทุก ๆ สถานการณ์

การจัดการความรู้ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ


ชัชวาลย์ วงษ์ประเสริฐ (2548) ได้กล่าวว่า เทคโนโลยีสารสนเทศได้เพิ่มคุณค่าเมื่อสามารถลดต้นทุนเวลา และพยายามช่วยให้สามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน หรือการแบ่งปันความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดการความรู้ การจัดการเนื้อหา กำหนดบทบาทความรู้ ซึ่งการจัดการความรู้นั้นมีเครื่องมือจำนวนมากที่สามารถช่วยเหลือบุคคลและองค์กรให้สามารถเข้าถึงความรู้ และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้ ดังนั้น องค์กรจึงต้องตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากความรู้ มากกว่าการสร้างและใช้เทคโนโลยีสารสนเทศที่ดีที่สุด กล่าวอีกอย่างหนึ่งว่าเทคโนโลยีสารสนเทศไม่สามารถทำอะไรเองได้ จำเป็นต้องอาศัยมนุษย์และผ่านกระบวนการเกี่ยวกับการจัดการความรู้

วัตถุประสงค์ของการจัดการความรู้ คือ การทำให้ความรู้ที่มีอยู่นั้นสามารถนำมาใช้อย่างเหมาะสมจากผู้ส่งถึงผู้รับ ความรู้ของผู้ส่งและผู้รับนั้น สามารถนำเอาไปใช้ได้ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ผู้ส่งอาจจะส่งเป็นความคิดเห็นส่วนตัวหรือเป็นความรู้ นอกจากนี้ความรู้อาจจะมาจากแหล่งอื่น ๆ เช่น จากคลังความรู้ ใน “Global Village” ผู้ส่งและผู้รับสามารถเผยแพร่ข้ามโลกจากฟากหนึ่งไปอีกฟากหนึ่งของโลก หากมีความจำเป็นจะต้องใช้ความรู้นั้นมนุษย์จำเป็นจะต้องนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและการนำไปใช้อย่างรวดเร็วทั้งองค์กร เช่น ระบบจัดการเอกสาร ความรู้ในหลายองค์กรมักอยู่ในรูปของเอกสาร และจัดเก็บอยู่ในรูปของตัวหนังสือ เช่น รายงาน หนังสือหรืองานเอกสาร

กระบวนการจัดการความรู้

กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นกระบวนการที่จะช่วยให้เกิดพัฒนาการของความรู้ หรือการจัดการความรู้ที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กร มีทั้งหมด 7 ขั้นตอน คือ

1. การบ่งชี้ความรู้ เป็นการพิจารณาว่าองค์กรมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ ยุทธศาสตร์ เป้าหมายคืออะไร
2. การสร้างและแสวงหาความรู้ เช่นการสร้างความรู้ใหม่ แสวงหาความรู้จากภายนอก รักษาความรู้เก่า กำจัดความรู้ที่ใช้ไม่ได้แล้ว
3. การจัดความรู้ให้เป็นระบบ เป็นการวางโครงสร้างความรู้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บความรู้อย่างเป็นระบบในอนาคต
4. การประมวลและกลั่นกรองความรู้ เช่น ปรับปรุงรูปแบบเอกสารให้เป็นมาตรฐาน ใช้ภาษาเดียวกัน ปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์
5. การเข้าถึงความรู้ เป็นการทำให้ผู้ใช้ความรู้เข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายและสะดวก เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) Web board บอร์ดประชาสัมพันธ์ เป็นต้น
6. การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ ทำได้หลายวิธีการ โดยกรณีเป็น Explicit Knowledge อาจจัดทำเป็นเอกสาร ฐานความรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือกรณีเป็น Tacit Knowledge จัดทำเป็นระบบ ทีมข้ามสายงาน กิจกรรมกลุ่มคุณภาพและนวัตกรรม ชุมชนแห่งการเรียนรู้  เป็นต้น
7. การเรียนรู้ ควรทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เช่นเกิดระบบการเรียนรู้จากสร้างองค์ความรู้ การนำความรู้ในไปใช้ เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ และหมุนเวียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง

หัวใจของการจัดการความรู้

1. ความรู้คือพลัง

2.ความสำเร็จของการถ่ายทอดความรู้ไม่ใช่อยู่ที่คอมพิวเตอร์หรือเอกสารแต่อยู่ที่การมีปฏิสัมพันธ์ ระหว่างคนด้วยกัน

3. จุดหมายปลายทางสำคัญ ของความรู้มิใช่ที่ตัวความรู้ แต่อยู่ที่การนำไปปฏิบัติ

4. นิยามใหม่ของผู้จัดการ คือ ผู้ซึ่งทำให้ความรู้ผลิตดอกออกผล



เครื่องมือในการจัดการความรู้

ประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ

1. แผนการจัดการความรู้ในส่วนของกระบวนการจัดการความรู้ (KM Process)

2. แผนการจัดการความรู้ในส่วนของกระบวนการจัดการเปลี่ยนแปลง (Change Management Process)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น